การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยกองพัฒนาบุคลากร ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (TAT HR) ร่วมกับ บริษัท ฮาบิ32 จำกัด ได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพกลุ่ม TAT Talent ปี 2566 Site Visit: Tourism Strategy Exploration ในระหว่างวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2567 ณ บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
โดยในวันแรก วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 คณะของกองพัฒนาบุคลากร ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (TAT HR) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย วิทยากร และกลุ่ม TAT Talent ปี 2566 ได้ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพมหานคร มุ่งสู่ ท่าอากาศยานนูราลัย เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
จากนัั้น คณะฯ ได้ออกเดินทางเพื่อเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เชื่อมโยงแนวคิดในประเด็น STGs 4, STGs 6, STGs 11, STGs 16 ในมิติด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะและชายฝั่งทะเลมุ่งสู่ความยั่งยืน การรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีความสำคัญทั้งในเชิงการท่องเที่ยวและการสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพต่าง ๆ ของคนในพื้นที่ โดยได้เดินไปยัง อนุสาวรีย์มหาภารตะ สัญลักษณ์ของเกาะบาหลี เยี่ยมชมอนุสาวรีย์บิม่า เทพเจ้าแห่งท้องทะเล ย่าน Kartika Plaza และเยี่ยมชม วิหารกลางสมุทรอินเดีย Pura Tanah Lot เป็นวิหารที่สร้างในศตวรรษที่ 16 โดยนักบุญดายังระวาดีที่บำเพ็ญ ศีลภาวนาและมีความศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นที่นับถือของชาวบาหลี รวมถึงชมหน้าผามหัศจรรย์และจุดชมวิวที่งดงาม เยี่ยมชมวัดบนโขดหินริมมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และละครดังเรื่องต่าง ๆ เช่น ดอกแก้วการะบุหนิง
วันที่สอง วันที่ 28 มิถุนายน 2567 ช่วงเช้า คณะฯ ได้ออกเดินทางเพื่อเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เชื่อมโยงแนวคิดในประเด็น STGs 1, STGs 4, STGs 8, STGs 9, STGs 11 ในมิติด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและโดดเด่นด้านวัฒนธรรม พิธีกรรม และความเชื่อดั้งเดิม โดยมุ่งสู่การสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งท่องเที่ยว ชุนชน รวมถึงการสร้างกฎเกณฑ์สำหรับนักท่องเที่ยวให้มีความเคารพต่อพื้นที่ โดยได้เดินทางไปเยี่ยมชม วัดเลมปูยางค์ (Lempuyang Temple) วัดเก่าแก่ที่สะท้อนศิลปวัฒนธรรมของชาวบาหลี ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่แบ่งพื้นที่ของวัดเป็น 3 ส่วนเหมือนกับร่างกายมนุษย์ (ส่วน ศีรษะ ร่างกาย และปลายเท้า) โดยชั้นบนสุดจะเป็นที่ประทับขององค์พระศิวะ หนึ่งในเทพเจ้าสูงสุด 3 พระองค์ (ตรีมูรติ) ของศาสนาพราหมณ์- ฮินดู และชมประตูหินขนาดใหญ่ ที่มีฉากหลังเป็นภูเขาไฟอากุง หนึ่งในภูเขาที่ยังคงมีพลังบนเกาะบาหลี
จากนั้นได้เดินทางไปเรียนรู้ ณ วัด Pura Besakih The Mother of Temple เป็นวัดที่รวบรวมความเป็นที่สุดของบาหลีไว้หลายประการ นอกจากจะเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุด สวยงามที่สุด มีความสำคัญมากที่สุด ยังเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุด วัดแห่งนี้ถือเป็นมารดาของมวลวิหาร เพราะเป็นวัดในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะบาหลี และยังถือว่าเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์เหนือวัดทั้งปวง วัดนี้เริ่มสร้างในศตวรรษที่ 8 และ ขยายจนมีขนาดเท่าปัจจุบัน ชาวบาหลียกให้เป็นวัดหลวงหรือ Mother of Temple ประกอบด้วยวัดเล็ก ๆ อีก 23 แห่งอยู่ภายใน ซึ่งก็มีความสำคัญต่างกันไป โดยมีการจัดวางให้เรียงรายอยู่เป็นกว่า 7 ขั้น เรียงรายไปตามไหล่เขา และยังมีแท่นบูชาบรรพบุรุษของชาวบาหลีตั้งเรียงราย อีกหลายร้อยแท่น มีฉากหลังเป็นภูเขาไฟคูนุงอากุง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในบาหลี มีความเป็นมาที่ยาวนานมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์
ในช่วงบ่าย คณะฯ ออกเดินทาง เพื่อเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เชื่อมโยงแนวคิดในประเด็น STGs 1, STGs 8, STGs 9 ในมิติด้านการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว การสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ให้กับสินค้าท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้วิถีของชุมชนของแหล่งท่องเที่ยวนั้น โดยได้เดินทางไปยัง โรงงานผ้าบาติก เยี่ยมชมโรงงาน ขั้นตอนการผลิต และทดลองทำกิจกรรม Workshop เพ้นท์ผ้าบาติก (Batik Coloring Session) ระบายสีบนผ้าบาติกด้วยสีย้อม ซึ่งมีสีให้เลือกถึง 17 สี เมื่อย้อมผ้าเสร็จแล้ว ผ้าบาติกจะถูกต้มเพื่อเอาขี้ผึ้งออก หลังจากการต้มแล้ว นำผ้าบาติกไปล้างในน้ำ สะอาด แล้วตากให้แห้งเพื่อจะได้ความงามและความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าบาติก เพื่อเรียนรู้การพัฒนาสินค้าการท่องเที่ยวด้วยความคิดสร้างสรรค์ ผ่าน Creative Tourism
และในช่วงค่ำ คณะฯ ได้รับโอกาสเข้าพบท่านรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ท่าน Ibu Ni Made Ayu Marthini (Deputy Minister for Marketing) เพื่อรับฟังแนวทาง/นโยบาย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยวต่าง ๆ
วันที่สาม วันที่ 29 มิถุนายน 2567 คณะฯ ออกเดินทาง เพื่อเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เชื่อมโยงแนวคิดในประเด็น STGs 1, STGs 4, STGs 14, STGs 15, STGs 16 ในมิติด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากร และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางมาจากทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นด้านการมีแนวคิดและแนวปฏิบัติเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติ ภายใต้การเติบโตของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน โดยสามารถเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่น ปรัชญา Tri Hita Karana ซึ่งเป็นแนวคิดการรักษาความสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตั้งแต่ปี 2019 โดยได้เดินทางไปยังท่าเรือซานูร์ขึ้นเรือล่องสู่ เกาะนูซาเปอนีดา Nusa Penida เป็นเกาะที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ บาหลี มีเกาะขนาดเล็กอยู่ใกล้ ๆ คือ นูซาเลิมโบงัน และนูซาเจอนีงัน ถูกคั่นด้วยช่องแคบบาดุง
• เรียนรู้ ณ แองเจิ้ลบิลลาบอง (Angel Billabong) เป็นแอ่งน้ำทะเลธรรมชาติที่ยกตัวขึ้น ซึ่งในช่วงน้ำลง นักท่องเที่ยวสามารถลงไปแช่น้ำได้คล้ายกับ Sea View Pool ที่ขอบสระกระทบกับวิวท้องทะเลและ ท้องฟ้า
• เรียนรู้ ณ เกอลิงกิง บีช (Kelingking Beach) หาดทรายสีขาวที่เงียบสงบพร้อมน้ำทะเลสีฟ้าคราม ที่ล้อมรอบด้วยหน้าผาสูงชันและแหลมที่ตั้งอยู่บนเกาะนูซาเปอนีดา ซึ่งเป็นจุดแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในการถ่ายรูปของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกด้วย
• เรียนรู้ ณ โบรคเคน บีช (Broken Beach) เป็นชายหาดเล็ก ๆ ที่งดงามตั้งอยู่บนเกาะนูซาเปอนีดา จุดเด่นของชายหาดแห่งนี้คือ หินที่โดนน้ำทะเลกัดเซาะจนกลายเป็นอุโมงค์คล้ายเป็นสะพาน โดยด้านล่างคือผืนน้ำทะเลสีฟ้าใส เป็นอีกจุดเช็คอินถ่ายรูปของนักท่องเที่ยว
• เรียนรู้ ณ Crystal Bay เป็นจุดดำน้ำสำคัญที่มีชื่อเสียงที่สุดของบาหลีในการดูสัตว์ใหญ่อย่างโมลาโมล่า และแมนต้า เพราะอุณหภูมิน้ำค่อนข้างเย็น เป็นทะเลเปิด และคลื่นลูกใหญ่
และในช่วงค่ำ ได้เดินทางไปยัง Garuda Wisnu Kencana Cultural Park สวนพระวิษณุและรูปปั้นพระวิษณุ (พระนารายณ์) พระผู้ปกป้องโลก 1 ใน 3 เทพเจ้าสูงสุดของชาวฮินดู ทรงมีพาหนะเป็นนกครุฑ (นกอินทรีย์) หรือเทพการูด้า เทพเจ้าแห่งอิสรภาพของชาวฮินดู ซึ่งเป็นพาหนะของพระวิษณุ มีความสูง 150 เมตร กว้าง 64 เมตร ขนาดน้ำหนัก 4,000 ตัน โดยสวนวิษณุแห่งนี้มีพื้นที่โดยประมาณ 240 ไร่ และสถานที่แห่งนี้ยังใช้จัดแสดงโชว์ วัฒนธรรมบาหลี เช่น ระบำบารอง ไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอีกด้วย
และวันที่สี่ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 คณะฯ ออกเดินทางเพื่อศึกษาผลิตภัณฑ์สินค้า/บริการสำหรับนักท่องเที่ยว เชื่อมโยงประเด็นด้าน STGs 8 ที่ Krisna หลังจากนั้น คณะฯ เดินทางกลับสู่ประเทศไทยถึงยังท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยสวัสดิภาพ